มายาคติ ภาพร้ายทำลายสังคม

มายาคติ ภาพร้ายทำลายสังคม


     มายาคติ (Mythology) เป็นรูปแบบสัญลักษณ์ที่คนในสังคมสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการขัดเกลาทางสังคม และให้ยากต่อการเข้าถึงความจริง

     "มายา" แปลว่า สิ่งที่ไม่ใช่ความจริง หลอกลวง ส่วน "คติ" แปลว่าความเชื่อที่สืบต่อมา ส่วนคำว่า มายาคติ ถูกแปลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า myth ซึ่งเป็นศัพท์ทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา หมายถึง คติความเชื่อหรือทัศนคติที่ไม่เป็นความจริง 

     จุดที่สำคัญมากที่ต้องเข้าใจคือ มายาคติ ไม่ได้หมายถึง การหลอกลวงที่มีใครมาหลอกลวงเรา แต่เป็นการที่คนเราคุ้นเคยกับมันจนเราหลงเชื่อกันไปเองว่านั่้นเป็นความจริง คิดไปเองว่าค่านิยมที่เรายึดถืออยู่นั้นเป็นธรรมชาติ หรือเป็นไปตามสามัญสำนึก หรือเป็นสัจธรรมของโลก 

     มายาคติถูกประกอบสร้างขึ้นส่งต่อๆ กันมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือบางครั้งเกิดโทษต่อผู้ที่กระทำตามมายาคติเหล่านั้น เช่น คนโบราณบอกว่าห้ามร้องเพลงในครัว ไม่งั้นจะได้ผัวแก่ อันที่จริงแล้ว คนโบราณอาจจะเพียงแค่กลัวว่าน้ำลายจะกระเด็นลงไปในอาหารเท่านั้นเอง หรือที่บางครั้งบอกว่าผู้หญิงท้องห้ามนอนขวางประตู เพราะจะทำให้คลอดยาก ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ อย่างนี้เป็นต้น 

     ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามายาคตินั้นจะแฝงอยู่กับความคิด ความเชื่อ ของคนในสังคมนั้นๆ ด้วย ซึ่งมายาคตินั้นจะมีในหลายๆ ลักษณะหลายๆ รูปแบบ หากมองในมิติของการสื่อสารแล้ว มายาคติอาจจะหมายถึง การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรม

     สำหรับยุคปัจจุบันเราได้สร้างมายาคติเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของการข่มขืน ที่มองว่า ผู้หญิงแต่งตัวล่อแหลมเป็นสาเหตุหลักของการถูกข่มขืน ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่ เราไม่มีทางรู้  “ไม่มีทางรู้ว่างผู้หญิงแต่งตัวอย่างไร” เพราะทุกครั้งที่เกิดข่าวการข่มขืน ไม่มีสำนักข่าวใดได้รายงานถึงการแต่งกายของผู้หญิง จึงเกิดเป็นภาพมายาคติที่ทำให้คนตีความและคิดเอาเองว่าคงเกิดจากการแต่งตัวล่อแหลมของผู้หญิง

     กรณีต่อไป อาจหยิบยกการหายตัวไปของ 13 ทีมหมูป่าและโค้ช ที่เกิดมายาคติต่าง ๆ นานามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องลี้ลับ เรื่องของเส้นทางขนส่งยาเสพติดต่าง ๆ นานา ไม่เว้นแม้แต่ตอนที่พบตัวแล้วก็ยังเกิดเป็นมายาคติที่ว่า เด็ก ๆ และโค้ชดูไม่ตื่นเต้นดีใจที่เจอกับผู้ค้นพบ หรือ...ทำไมทุกคนยังคงดูมีแรง ซึ่งก่อนที่จะมีการให้ข้อมูลก็เกิดเป็นมายาคติว่า ติดถ้ำกันจริงเหรอ แต่เมื่อได้ทราบความจริงก็ได้ไขข้อกระจ่างไป

     มายาคติเหล่านี้เราอาจถูกหล่อหลอมด้วยสังคมความเป็นอยู่ของเรา ไม่ว่าจะด้วยสื่อต่าง ๆ ที่เริ่มจากสื่อโทรทัศน์ ผ่านทางรายการละคร ซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ที่หล่อหลอมให้เราเห็นถูกผิด เช่น

 

นางเอกถูกพระเอกข่มขืน = ฟิน
นางร้ายถูกตัวร้ายข่มขืน = สะใจ
นางเอกถูกตัวร้ายข่มขืน = โกรธ เสียใจ  

 

     หรือในความหมายของเพศทางเลือกเช่น เป็นเกย์หรือตุ๊ดต้องตลก เป็นทอมต้องห้าว เป็นต้น ซึ่งภาพต่าง ๆ เหล่านี้ถูกปลูกฝังให้กับเราทุกคนตั้งแต่เรายังเด็ก และยังคงกลายเป็นมรดกตกทอดต่อเยาวชนรุ่นหลังต่อไปหากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

     มายาคติที่เราถูกปลูกฝัง มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรจะเปลี่ยนภาพเหล่านั้น คำถามต่อไปคือ ผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคือใคร และจะทำได้อย่างไร

     คำตอบสำหรับครูใหญ่ที่มีให้ในวันนี้คือ การปลูกฝังคนใกล้ตัวด้วยเรื่องง่าย ๆ อย่าเห็นดีเห็นชอบกับสิ่งผิดในละครหรือสื่อต่าง ๆ ใช้เหตุผลให้มาก ใช้อารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินให้น้อย หยุดตามกระแส และหามุมอื่นในการวิเคราะห์ เพื่อที่เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อ

     นอกจากนี้มีคำถามมาว่า "มายาคติ" คืออะไร? แตกต่างจาก "อคติ" ตรงไหน? ขอตอบสั้นๆ อย่างนี้ว่า 

     "อคติ" คือ ความลำเอียง โดยจะเน้นที่การลำเอียงทางความเชื่อหรือความคิด ส่วนคำว่า "มายาคติ" หมายถึง ความเชื่อที่ไม่เป็นความจริงที่เชื่อสืบต่อกันมา โดยไม่จำเป็นว่าตั้งใจลำเอียงหรือไม่ 


เพราะรัก จึงบอก
ครูใหญ่

 

ความคิดเห็น